เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. โกณฑัญญพุทธวงศ์
[6] ในคราวที่พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมย่ำยีพวกเดียรถีย์
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 80,000 โกฏิได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[7] พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้มีการประชุมพระสาวกผู้เป็นขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง
[8] พระขีณาสพจำนวน 100,000 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 1
พระขีณาสพจำนวน 1,000 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 2
พระขีณาสพจำนวน 90 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 3
[9] ครั้งนั้น เราเป็นพระมหากษัตริย์มีนามว่าวิชิตาวี
แผ่ความเป็นใหญ่ไปโดยมีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขต
[10] เราได้อังคาสภิกษุประมาณ 10,000 โกฏิ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ปราศจากมลทิน
พร้อมด้วยพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันเลิศของสัตว์โลก
ให้อิ่มหนำด้วยอาหารอันประณีต
[11] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะพระองค์นั้น
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ก็ทรงพยากรณ์เราว่า
ในกัปอันนับประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
เขาจักเป็นพุทธเจ้าในโลก
พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[12] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร
บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :597 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. โกณฑัญญพุทธวงศ์
จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[13] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[14] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[15] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[16] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
[17] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :598 }